Kledthai.com

ตะกร้า 0

ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต การเกิด การตาย ปลูกเรือน แต่งงาน (สภาพ 70%)

ISBN: 9789747236903

ผู้แต่ง : เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน)

ผู้แปล : -

สำนักพิมพ์ : ศยาม

ปีที่พิมพ์ : 2551

จำนวนหน้า : 551

พร้อมส่ง
ISBN:
9789747236903
ราคาพิเศษ ฿333.00 ราคาปรกติ ฿370.00

O๐๐..งานนิพนธ์ชุดประเพณีไทย..๐๐O

๐ ประเพณีเนื่องในการเกิด
๐ ประเพณีเนื่องในการตาย
๐ ประเพณีเนื่องในการสร้างบ้านปลูกเรือน
๐ ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตแต่งงาน

งานนิพนธ์ของพระยาอนุมานราชธนในชุดประเพณีเกี่ยวกับชีวิตนี้ มีคุณค่าทั้งในฐานะที่เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคม กับเป็นงานค้นคว้าทางภูมิปัญญาอย่างไทยที่ควรแก่การศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับลัทธิประเพณีอันเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย ในระบบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์กับธรรมชาติ อันปลาสนาการไปแล้วในยุคปัจจุบัน

แม้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตอันกลายมาเป็นประเพณีนี้ จะเปลี่ยนแปรไปตามกาลสมัยและสภาพความเป็นไปทางสังคมแต่ถ้าหากเราประจักษ์ชัด ในความเป็นมาเบื้องต้นแห่งประเพณีนั้นๆ ย่อมช่วยให้เราประยุกต์พิธีกรรมอันเนื่องในประเพณีต่างๆ ได้อย่างถูกต้องสมสมัย ไม่เป็นแต่เพียงการสืบต่อประเพณีอย่างปราศจากคุณค่า ทั้งยังอาจสื่อกับคนรุ่นใหม่ให้มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม โดยนัยอันถูกต้องเหมาะสมอีกด้วย

เรื่องประเพณีเนื่องในการเกิด

และประเพณีเนื่องในการตาย

ในเวลาชั่วชีวิตของคน ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตาย ซึ่งเรียกกว่าอายุ ย่อมผ่านเหตุการณ์ที่ถือกันว่าสำคัญเป็นระยะๆ มา เมื่อแรกเกิดก็ต้องทำพิธีเกี่ยวกับเกิดเพื่อให้แน่ใจเป็นประกัน ว่าเด็กที่เกิดมานั้นจะมีชีวิตรอดได้ ไม่ตายเสียใน ๓ วัน ๗ วัน และมีความเจริญเติบโต จนกว่าจะย่างเข้าเขตระยะที่จะเป็นผู้มีวัยรุ่น จึงทำพิธีตัดจุกเพื่อแสดงว่าพ้นจากวัยเด็กแล้ว จะได้เป็นคนมีกำลังใจมั่นคง  ประพฤติแห่งสิ่งที่ชอบที่ควร ว่าเฉพาะผู้ชายยังจะต้องเข้าพิธีบวชเรียนอีกระยะหนึ่ง แล้วถึงระยะมีเหย้ามีเรือน ซึ่งต้องเข้าพิธีแต่งงาน เพื่อความสุขความเจริญแก่ครอบครัว และในที่สุด ก็ถึงทำพิธีเกี่ยวกับการตายเพื่อให้มีชีวิตอยู่เป็นสุขในโลกหน้า

 

เรื่องประเพณีเกี่ยวกับเกิดและตาย ซึ่งมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงประเพณีที่ชาวไทย โดยเฉพาะภาคกลาง ประพฤติและสืบกันมาแต่ปรัมปรา ถือได้ว่าเป็นเรื่องของเก่าระยะก่อนสมัยปัจจุบันซึ่งข้าพเจ้าหมายความถึงสมัยก่อนมหาสงครามโลกครั้งที่สอง ข้อความในนั้น เขียนขึ้นไว้และมีอยู่ในนั้นอย่างใด ก็คงให้อยู่อย่างนั้นตามเดิม ไม่มีแก้ไขและปรับปรุงอย่างไร แม้จะได้ตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้งก็ตามที

 

ว่าถึงประเพณีเกี่ยวกับตาย ถ้าท่านอ่านข้อความซึ่งมีอยู่ในหนังสือนี้ จะปรากฏว่ามีอยู่หลายอย่างที่นับว่าเลิกไปแล้วในปัจจุบันลางอย่างก็ยังเหลือตกค้างอยู่ในถิ่นชนบท แต่ในกรุงในเมืองหมดไปแล้ว เพียงแต่โลงใส่ศพ คนสมัยนี้ก็มีมากคนที่ไม่เคยเห็น ถ้าจะเห็นก็เป็นแต่หีบศพทั้งนั้น มะพร้าวล้างหน้าศพก็หมดไป แต่ก็ยังเคยเห็นการเผาศพที่วัดอยู่ไม่ห่างไกลจากพระนครเท่าไรนัก ที่ยังมีมะพร้าวล้างหน้าศพ แต่ก็กลายรูปเป็นมะพร้าวที่หุ้มด้วยกระดาษทอง คือ เอาอย่างมะพร้าวทองในพระราชพิธีเผาศพ การเผาผีวันพระหรือวันศุกร์ ก็มีเผากันบ้างแล้ว แต่ยังมีอยู่เพียงประปรายเท่านั้น การทอดผ้ามหาบังสุกุลที่หน้าศพ เมื่อ ๘ ปีก่อน ข้าพเจ้าได้ไปเห็นในงานศพวัดหนึ่ง อยู่ห่างกรุงเทพฯ ออกไปเท่าไรนัก เห็นชาวบ้านลางคนที่มาช่วยในงานศพ นำเอาสบงมาทอดหน้าศพเอง หาใช่เจ้าภาพเชิญแขกผู้มีเกียรติขึ้นไปทอดแทนเจ้าของผ้าไม่  ล่วงต่อมาเพียงสามปีเท่านั้น ข้าพเจ้าไปในงานศพที่วัดเดียวกันนั้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เจ้าภาพนำผ้าไตรมาให้ข้าพเจ้าทอด ข้าพเจ้าก็นำขึ้นไปทอดที่เชิงตะกอนด้วยความรู้สึกหน้าชาๆ เพราะผ้าที่นำขึ้นไปทอด ไม่ใช่เป็นผ้าที่ข้าพเจ้านำไปช่วยทำบุญสักนิดเดียว นี่แสดงว่าเขาเอาอย่างชาวกรุงที่เห็นประพฤติกันอยู่.....ฯลฯ

 

เรื่องประเพณีเนื่องในการสร้างบ้านปลูกเรือน

และประเพณีเกี่ยวกับชีวิตแต่งงาน

สิ่งใดมีชีวิตอยู่ สิ่งนั้นย่อมมีความเจริญ ความเสื่อมและความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งซึ่งใครๆ ย่อมทราบดีเรื่องประเพณีก็มีลักษณะเป็นทำนองเดียวกัน เพราะประเพณีเป็นสิ่งที่คนสร้างและเกี่ยวข้องอยู่กับคนในส่วนรวม ถ้าไม่มีคน ประเพณีก็มีขึ้นไม่ได้ และถ้าไม่มีประเพณี คนก็รวมกันอยู่เป็นหมู่คณะคือสังคมไม่ได้ เพราะประเพณีเป็นแนวทางให้คนดำเนินวิถีชีวิตในหมู่พวกของตนได้ราบรื่น เมื่อว่าตามนี้ ประเพณีจึงเป็นสิ่งมีชีวิตโดยปริยาย และตกอยู่ในข่ายแห่งกฎธรรมดา คือไม่อยู่คงที่ทีเดียว จะต้องมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ถ้าไม่มีเปลี่ยนแปลง ประเพณีก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนแปลงมากไปจนเกินความพอดี ประเพณีก็เปลี่ยนรูปไปจนจำไม่ได้ หมดความสำคัญอันเป็นบุคลิกลักษณะเดิมของประเพณี อัตราความเปลี่ยนแปลงของประเพณีมีต่างๆ กัน ท้องถิ่นในมีความอยู่รวมกันน้อย ไม่ใคร่ได้ติดต่อกับคนอื่น ความเปลี่ยนแปลงของประเพณีก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ท้องถิ่นใดมีคนอยู่รวมกันมาก ประเพณีก็มีความเปลี่ยนแปลงไปเร็ว เพราะได้เห็นแบบอย่างประเพณีของคนอื่นแล้วนำเอามาเพิ่มเติมปรับปรุงประเพณีของตน ซึ่งมีทั้งดีและเสียระคนปนกันอยู่ อันเป็นไปตามลักษณะความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ดั่งมีแจ้งอยู่ในเรื่องมานุษยวิทยาวัฒนธรรมนั้นแล้ว

 

เรื่องประเพณีแต่งงานของชาวไทย และเรื่องประเพณีสร้างบ้านปลูกเรือน ซึ่งมีอยู่ในหนังสือนี้ มีความเป็นไปแต่ก่อนนี้อย่างไรและมีเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็อาจหาความรู้เรื่องความเป็นอยู่ และชีวิตจิตใจของคนแต่ก่อน และคนเดี๋ยวนี้ ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง อันอาจเป็นทางให้เรารู้จักตัวเราได้ดียิ่งขึ้น ด้วยประการฉะนี้.

 

__เสฐียรโกเศศ__

เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต การเกิด การตาย ปลูกเรือน แต่งงาน (สภาพ 70%)
คะแนนของคุณ